วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

หน่วยที่2โคลงโลกนิติ

                                เรื่องโคลงโลกนิติ



คุณค่าของโคลงโลกนิติ

    คุณค่าของโคลงโลกนิติมีอยู่หลายด้านทีเดียว ซึ่งคนรุ่นหลังควรจะศึกษาและรักษามันเอาไว้
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
กวีมีความฉลาดและแยบคายในการประพันธ์ให้ผู้อ่านเห็นภาพ และเกิดความซาบซึ้งในโวหารเปรียบเทียบ มีการเลือกสรรถ้อยคำที่ใช้อย่างประณีตบรรจง ใช้คำสั้นแต่มีความหมายลึกซึ้ง ไพเราะทั้งเสียง ทั้งจังหวะ และเมื่ออ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะก็ยิ่งจะได้รับรสของคำประพันธ์มากยิ่ง ขึ้น ดังตัวอย่างคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                        “ปลาร้าพันห่อด้วย    ใบคา
                                    ใบก็เหม็นคาวปลา         คละคลุ้ง
                                    คือคนหมู่ไปหา            คบเพื่อน พาลนา
                                    ได้แต่รายร้ายฟุ้ง           เฟื่องให้เสียพงศ์”

จากคำประพันธ์ข้างต้นเป็นการใช้สัมผัสอักษรเล่นคำที่ทำให้เสียงไพเราะ มีจังหวะ ใช้คำง่ายๆ คมคาย ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพอย่างแจ่มชัดและจดจำคำกลอนได้ง่าย
การใช้โวหารภาพพจน์
        โคลงโลกนิติมีการใช้โวหารภาพพจน์ลักษณะต่างๆ ที่ทำผู้อ่านได้เข้าถึงสาระของบทกวีดียิ่งขึ้น เช่น
ภาพพจน์อุปมา คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่งเพื่ออธิบายสิ่งนั้นให้ชัดเจนขึ้น เช่น
                                        “นาคีมีพิษเพี้ยง     สุริโย
                                       เลื้อยบ่ทำเดโช       แช่มช้า
                                       พิษน้อยหยิ่งยโส     แมลงป่อง
                                       ชูแต่หางเองอ้า      อวดอ้างฤทธี”

คุณค่าด้านเนื้อหา
         โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีประเภทคำกลอน เป็นโคลงสุภาษิตเพื่อสอนให้เป็นคนดีปฏิบัติตนให้ถูกต้องในสังคม เป็นโคลงที่เข้าใจแก่นแท้และธรรมชาติของมนุษย์ทั้งทางโลก และทางธรรม เช่น
การใช้ทรัพย์ สอนให้รู้จักใช้ทรัพย์อย่างถูกวิธี ให้จัดสรรปันส่วนในการใช้จ่าย เช่น

                                    “ทรัพย์มีสี่ส่วนไซร้        ปูนปัน                                    ภาคหนึ่งพึงเกียดกัน       เก็บไว้
                                    สองส่วนเบ็ดเสร็จสรรพ์    การกิจ ใช้นา
                                    ยังอีกส่วนควรให้        จ่ายเลี้ยงตัวตน”
ลักษณะของคนดี สอนให้รู้ว่าคนดีควรมีลักษณะอย่างไร เช่น
                                    “ให้ท่านท่านจักให้     ตอบสนอง
                                    นบท่านท่านจักปอง     นอบไหว้
                                    รักท่านท่านควรครอง    ความรักเรานา
                                    สามสิ่งนิ่งนี้เว้นไว้      แต่ผู้ทรชน”

คุณค่าด้านสังคม
        โคลงโลกนิติเป็นโคลงที่มีคุณค่าต่อสังคมมาก เพราะเปรียบเสมือนเป็นกระจกส่องให้เห็นถึงพฤติกรรมของความเป็นมนุษย์ที่มีผล ต่อสังคม โคลงโลกนิติจึงเปรียบเป็นคู่มือในการใช้ครองเรือนให้มีความสุข ดำรงตนเป็นคนดีอยู่ในสังคม
อย่างถูกทำนองคลองธรรม เนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องนี้จึงมีผลอย่างมากต่อผู้อ่านที่จะทำให้เข้าใจ
ถึงความรู้สึกนึกคิด หรือสารที่ผู้แต่งต้องการสื่อออกมา อันจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ของคนในสังคมให้ดีขึ้น

การนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน
        โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีคำสอนซึ่งแสดงให้เห็นวิธีการใช้ชีวิตให้เป็นสุข และสามารถปฏิบัติตน
ให้อยู่ในกรอบที่ดีของสังคม สาระที่ปรากฏอยู่ในโคลงผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตได้ เช่น
การใฝ่ศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าในยุคสมัยใดการเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงควรขยันหมั่นเพียร เพราะความรู้ไม่มีใครสามารถขโมยไปได้และยังสามารถใช้เลี้ยงชีพของตนได้อีก ด้วย ดังโคลงบทนี้

                                     “ความรู้ดูยิ่งล้ำ     สินทรัพย์
                                คิดค่าควรเมืองนับ       ยิ่งไซร้
                                เพราะเหตุจักอยู่กับ       กายอาต-มานา
                                โจรจักเบียนบ่ได้        เร่งรู้เรียนเอา”

การเลือกคบคน การดำรงอยู่ในสังคมย่อมพบเจอกับผู้คนมากมาย ยากที่จะรู้ว่าใครดีหรือร้าย
จากการตัดสินแค่ภายนอกเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาให้ถ่องแท้ก่อนจะตัดสินว่าเป็นคนเช่นไร ดังโคลงบทนี้

                                    “ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้     มีพรรณ
                                    ภายนอกแดงดูฉัน      ชาดบ้าย
                                    ภายในย่อมแมลงวัน    หนอนบ่อน
                                    ดุจดังคนใจร้าย         นอกนั้นดูงาม”

=====

คำสอนในโคลงโลกนิติ

        คำสอนในโคลงโลกนิตินั้นส่วนใหญ่จะเน้นสุภาษิตเข้ามาจะสอนในเรื่องทำดีต่างๆละเว้นความชั่ว  สอนให้ทำความดี
โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักความดีความชั่ว การที่เราได้รับผลอย่างไรย่อมมีเหตุจากการกระทำของเราทั้งสิ้น ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน ส่วนผู้ทำชั่ว ผลที่เกิดจากการทำชั่วนั้น ย่อมกัดกร่อนใจซึ่งเปรียบได้กับสนิมกัดกร่อนเนื้อเหล็กให้ผุพังไป ดังที่ว่า
สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน
กินกัดเนื้อเหล็กจน      กร่อนขร้ำ
บาปเกิดแต่ตนคน       เป็นบาป
บาปย่อมทำโทษซ้ำ       ใส่ผู้บาปเอง
สอนให้รู้จักประมาณตน
        โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักประเมินความสามารถและประมาณกำลังของตน นับเป็นคำสอนที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ดังคำสอนที่ใช้แนวเทียบกับนกตัวน้อยที่หากินตามกำลังของตนและทำรังแต่พอตัว
                                        นกน้อยขนน้อยแต่     พอตัว
                                        รังแต่งจุเมียผัว         อยู่ได้
                                        มักใหญ่ย่อมคนหวัว     ไพเพิด
                                        ทำแต่พอตัวไซร้         อย่าให้คนหยัน
สอนให้รู้จักพิจารณาคนและรู้จักคบเพื่อน
    โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักพิจารณาเลือกคบคน โดยกล่าวเปรียบเทียบว่า ก้านบัว สามารถบอกความตื้นลึกของน้ำได้ฉันใด กิริยามารยาทของคนก็สามารถบ่งบอกถึงการอบรมเลี้ยงดูได้ฉันนั้น คำพูดก็สามารถบ่งบอกให้รู้ว่าคนนั้นพูดฉลาดหรือพูดโง่ เช่นเกียวกับหย่อมหญ้าที่เหี่ยวแห้งย่อมบอกให้รู้ว่าดินในบริเวณนั้นไม่ดี ดังที่ว่า
                                    ก้านบัวบอกลึกตื้น          ชลธาร
                                    มารยาทส่อสันดาน         ชาติเชื้อ
                                    โฉดฉลาดเพราะคำขาน      ควรทราบ
                                    หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ     บอกร้านแสลงดิน
สอนไม่ให้ทำตามอย่างผู้อื่น
        เมื่อเห็นผู้อื่นมั่งมีกว่าก็ไม่ควรโลภ ไม่ควรอยากมีอยากได้ตามคนอื่น แม้จะยากจนก็ให้หมั่นทำมาหากิน อย่าเกียจคร้านและท้อแท้ ให้รู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ดังที่ว่า
                                    เห็นท่านมีอย่าเคลิ้ม      ใจตาม
                                    เรายากหากใจงาม       อย่าคร้าน
                                    อุตสาห์พยายาม         การกิจ
                                    เอาเยี่ยงอย่างเพื่อนบ้าน   อย่าท้อทำกิน
สอนให้มีความกตัญญู
        โคลงโลกนิติสอนให้ระลึกถึงพระคุณบิดามารดาและครู โดยกล่าวเปรียบว่าพระคุณของมารดานั้นยิ่งใหญ่เปรียบได้กับแผ่นดิน พระคุณของบิดาเล่าก็กว้างขวางเปรียบได้กับอากาศ พระคุณของพี่นั้นสูงเท่ากับยอดเขาพระสุเมรุ และพระคุณของครูบาอาจารย์ก็ล้ำลึกเปรียบได้กับน้ำในแม่น้ำทั้งหลาย ดังที่ว่า
                                    คุณแม่หนักหนาเพี้ยง     พสุธา
                                    คุณบิดรดุจอา-           กาศกว้าง
                                    คุณพี่พ่างศิขรา          เมรุมาศ
                                    คุณพระอาจารย์อ้าง       อาจสู้สาคร
สอนให้เป็นคนมีวาจาอ่อนหวาน
        คนที่พูดจาสุภาพไพเราะย่อมมีเพื่อนมาก เปรียบได้กับดวงจันทร์ที่มีดาวจำนวนมากรายล้อมประดับ ต่างกับคนพูดจากระด้างหยาบคาย ทำให้มีไม่ใครปรารถนาจะคบหรือสมาคมด้วย เปรียบได้กับดวงอาทิตย์แสงร้อนแรงที่บดบังแสงของดาวดวงอื่น ดังที่ว่า
                                    อ่อนหวานมานมิตรล้น     เหลือหลาย
                                    หยาบบ่มีเกลอกราย       เกลื่อนใกล้
                                    ดุจดวงศศิฉาย ดาวดาษ    ประดับนา
                                    สุริยาส่องดาราไร้         เพื่อร้อนแรงแสง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำอธิบายรายวิชา

คำอธิบายรายวิชา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  รหัสวิชา  ท  21101   ภาษาไทย  1        ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1   เวลา   60   ชั่วโมง  จำ...